จากกรณีก่อนหน้านั้นโลกโซเชียล มีการส่งต่อข้อความสลากน้ำอัดลมยี่ห้อหนึ่ง ระบุว่ามีสาร E-150d พร้อมกับอ้างว่าสารนี้คือสารก่อมะเร็ง มีการตรวจสอบที่ดำเนินการโดย IARC ที่เป็นหน่วยงานระหว่างประเทศเพื่อวิจัยมะเร็งขององค์การอนามัยโลก
ต่อมา อ.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กถึงเรื่องดังกล่าว อ.เจษฎา กล่าวว่า เรื่องราวดังกล่าวไม่เป็นความจริง IARC ไม่ได้จัดให้สาร E-150d ซึ่งเป็นสีผสมอาหารที่ทำจากคาราเมล (คือเอาน้ำตาลมาคั่ว ให้เกิดสีน้ำตาลไหม้) เป็นสารที่อาจจะก่อให้เกิดโรคมะเร็งในมนุษย์ สาร 4-MEI อาจจะเกิดขึ้นในกระบวนการผลิตสีผสมอาหารคาราเมล กลุ่มที่ 3 (E-150c) และกลุ่มที่ 4 (E-150d) ระหว่างการให้ความร้อนกับน้ำตาลกับกลุ่มไนโตรเจน เพื่อให้เริ่มเกิดกระบวนการสร้างคาราเมลขึ้น
หน่วยงานทางอาหารของยุโรป มีการกำหนดให้ระดับของสาร 4-MEI ในสีผสมอาหารคาราเมล หมายเลข E150c และ E150d ต้องมีไม่เกินกำหนด คือ ไม่เกิน 200 และ 250 มิลลิกรัม ต่อหนึ่งกิโลกรัมของสีคาราเมล E150c และ E 150d ตามลำดับ (ที่ระดับความเข้มสี เท่ากับ 0.1)
สำหรับประเทศไทย มีการอนุญาตให้ใช้สีผสมอาหารและเครื่องดื่ม “น้ำอัดลม” กลุ่มสีคาราเมล กันอยู่แล้ว โดยจัดเป็น “สีธรรมชาติ” ตัวอย่างเช่น ในอาหารกลุ่มขนมขบเคี้ยวนั้น อนุญาตให้ใช้สีคาราเมล รหัส INS-150d หรือสีคาราเมลกลุ่มที่ 4 ซัลไฟต์แอมโมเนียคาราเมล
โดยให้มีปริมาณสูงสุดที่อนุญาตให้เจือปนในอาหารได้ถึง 5000 มิลลิกรัม/กิโลกรัมอาหาร และรหัส INS-150c หรือสีคาราเมลกลุ่มที่ 3 แอมโมเนียคาราเมล ให้มีปริมาณสูงสุดที่อนุญาตให้เจือปนในอาหารได้ถึง 5000 มิลลิกรัม/กิโลกรัมอาหาร เช่นกัน สรุปแล้ว ถึงแม้ว่าสีผสมอาหาร E150d หรือ Sulfite ammonia caramel นั้นจะมีการพบสาร 4-MEI ที่มีรายการการอาจจะทำให้เกิดมะเร็งได้ในหนูทดลองก็ตาม แต่ก็ต้องเมื่อหนูทดลองนั้นได้รับเป็นปริมาณมาก ๆ และเป็นเวลายาวนานก็ตาม และทำให้หน่วยงานทางอาหารของประเทศต่าง ๆ ถือว่า สีผสมอาหารคาราเมลนี้ ยังมีความเสี่ยงต่ำมากที่จะก่อให้เกิดโรคมะเร็งในมนุษย์ และไม่จำเป็นต้องมีคำเตือนอยู่บนฉลากสินค้า เพียงแต่บริษัทผู้ผลิตจะต้องควบคุมให้ปริมาณสาร 4-MEI ไม่มากเกินกำหนด
ขอบคุณ เพจ อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์