วันที่ 26 พ.ย.66 กรณีนายธงไทย หรือโด่ง ดีพันธ์ อายุ 38 ปี อยู่บ้านเลขที่213 ม.2 ต.โคกกลาง อ.ลำปลายมาศ จ.บุรีรัมย์ ขี่รถจักรยานยนต์ไปชนใส่กองข้าวเปลือกของเกษตรกรที่นำมาตากบนถนนลาดยางสาย บ้านยาง-บ้านโศกดู ต.บ้านยาง อ.ลำทะเมนชัย จ.นครราชสีมา จนทำให้นายธงไทย เสียชีวิต เหตุเกิดเมื่อวันที่ 23 พ.ย.ที่ผ่านมา เวลาประมาณ 19.00 น.
เหตุการณ์ดังกล่าวชาวเน็ตต่างออกมาวิพากษ์วิจารณ์กันเป็นจำนวนมาก โดยแบ่งความคิดเป็นสองฝั่ง ฝ่ายหนึ่งวิจารณ์ว่าถนนทำไว้ให้รถวิ่ง การตากข้าวบนถนนถือว่าผิดกฎหมาย อีกฝั่งหนึ่งเห็นใจเกษตรกรเพราะวิธีการทำนาเปลี่ยนไปจากเดิม ต้องใช้รถเกี่ยวเพื่อให้ทันเวลาข้าวสุก แล้วเอามาตากคลายความชื้น แต่ไม่มีสถานที่มารองรับ
นายอภิชัย ปักการัง อายุ 56 ปี ผู้ใหญ่บ้านโศกดู่ หมู่ 4 ต.บ้านยาง อ.ลำทะเมนชัย จ.นครราชสีมา กล่าวว่าตอนเกิดเหตุเป็นเวลาประมาณ 19.00 น.มีชาวบ้านมาแจ้งว่ามีคนเกิดอุบัติเหตุบริเวณกองข้าวเปลือกของชาวบ้าน ห่างจากหมู่บ้านประมาณ 2 กม.จึงรีบไปตรวจสอบพร้อมหน่วยกู้ชีพของตำบล ก่อนจะนำตัวผู้บาดเจ็บไปส่งโรงพยาบาล และมาทราบว่าเสียชีวิตในเวลาต่อมา
ยอมรับว่าเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ข้าวเปลือกดังกล่าวเป็นของลูกบ้าน หลังจากเกิดเหตุได้สั่งห้ามชาวบ้านเอาข้าวเปลือกมาตากบนถนนอีก เพราะเกรงว่าจะเกิดเหตุซ้ำขึ้นอีก
นายอภิชัย กล่าวด้วยว่า ชาวบ้านตากข้าวเปลือกบนถนนมานาน ตั้งแต่เริ่มใช้รถเกี่ยวข้าว เพราะข้าวออกมาพร้อมกันบางส่วนเอาไปขายให้กับโรงสีทันที แต่ต้องโดนหักค่าความชื้น ขายได้ในราคาถูก บางคนจะต้องหาวิธีระบายความชื้นแล้วเอาไปเก็บในยุ้งข้าว
แต่สถานที่ตากข้าวมีน้อย ชาวบ้านบางคนเอาไปตากตามสถานที่ราชการ แต่พื้นที่ไม่เพียงพอ จึงจำเป็นต้องเอามาตากบนท้องถนน แต่ก็เป็นเรื่องปกติไม่ใช่เป็นเรื่องแปลกตาของผู้ใช้รถใช้ถนนเพราะจะมีระยะเวลาเพียง 1 เดือนเท่านั้น
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในความคิดเห็นส่วนตัว มีความรู้สึกเห็นใจทั้งผู้เสียชีวิตและเจ้าของข้าวเปลือก การตากข้าวเปลือกชาวบ้านจะมีวิธีการจัดการให้อยู่ร่วมกันกับผู้ใช้รถได้
โดยจะตากบนถนนครึ่งเลน แล้วสลับเป็นฟันหลอเอาไว้ให้รถสวนกันเป็นช่วงๆ ตอนเย็นชาวบ้านจะกวาดข้าวมากองสูงประมาณ 30-40 ซม.ยาวเป็นแนวอยู่ไหล่ถนน เพื่อให้รถวิ่งผ่านได้สะดวก หลังจากตากได้ 2-3 แดดก็จะเก็บข้าวใส่ยุ้ง โดยจะมีคนอื่นมารอตากข้าวต่อ ครั้งนี้ก็เช่นเดียวกันเกษตรกรรวบข้าวเปลือกมากองไว้ริมถนนแล้ว แต่ก็ยังเกิดเหตุจนได้
หลังเกิดเหตุ ตำรวจเข้ามาตรวจสอบที่เกิดเหตุลงบันทึกและสอบปากคำผู้เกี่ยวข้องไว้หมดแล้ว หลังจากนี้จะต้องเข้าสู่กระบวนการเจรจา เพราะต่างคนต่างน่าเห็นใจ โดยเฉพาะเจ้าของข้าวเพิ่งเสียพ่อไปเมื่อ 2 เดือนที่ผ่านมา ยังจะต้องมีเรื่องเกิดขึ้นอีก ทั้งนี้เจ้าของข้าวยอมรับผิดส่วนจะชดใช้อย่างไรจะต้องเจรจา ส่วนแนวทางการแก้ไขที่จะไม่ให้มีการตากข้าวบนถนน “ยังไม่มีใครคิดหรือแก้ไขปัญหานี้ได้”เพราะการตากข้าวบนถนนกลายเป็นวิถีของชาวบ้านไปแล้ว
ธีรยุทธ์ ชำนาญกอง ผู้สื่อข่าวสยามนิวส์ จ.บุรีรัมย์