อาคารเรียนพังถล่มทั้งหลัง ครู-นร. 54 คนก้มหน้ารับชะตากรรม เผย นร.ไม่ถึง 60 คนไม่เข้าเกณฑ์ได้รับงบ - khaofesbuk.com

Thursday, November 23, 2023

เปิดภาพสุดรันทดอาคารเรียนพังถล่มทั้งหลังเผยเด็กทั้งโรงเรียนแค่ 54 ตนไม่ถึงเกณฑ์ 60 คนไม่ถึงหลักเกณฑ์ที่จะได้รับการจัดสรรงบปรับปรุงซ่อมแซม -ครู นร.โรงเรียนบ้านหนองบัว ต.เขาพระทอง อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช รับชะตากรรม-ในขณะที่อาคารอื่น ๆ ชำทรุด ผุพัง ปลวกรุมกัดกินจนจะพังมิพังแหล่ ส่วนอุปกรณ์สนามเด็กเล่นเก่าแก่ชำรุดเสียหายเช่นกัน

( 23 พ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่าจากการที่โลกโซเชี่ยลได้โพสต์ภาพซากปรักหักพังของอาคารเรียนโรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดนครศรีธรรมราช และตั้งคำถาม 3 ข้อ ประกอบด้วย โรงเรียนชื่ออะไร 2.โรงเรียนแห่งนี้มีอายุครบกี่ปี และ 3.หลักเกณฑ์ของทางราชการสำนักงานการประถมศึกษาแห่งชาติกำหนดยอดนักเรียนแต่ละโรงเรียนอย่างน้อยกี่คน จึงจะได้รับการพิจารณาจัดสรรงบประมาณพัฒนาปรับปรุงซ่อมแซมอาคารเรียนที่ชำรุดทรุดโทรม ชิงรางวัลหัวนะโม-แหวนหัวนะโม รุ่น 100 ปี บุญสารทเดือนสิบจังหวัดนครศรีธรรมราช จำนวน 15 รางวัล โดยมีผู้สนใจเข้ามาแสดงความคิดเห็นและตอบคำถามผิดบ้างถูกบ้างอย่างกว้าง

ล่าสุดได้มีการเปิดเผยชื่อโรงเรียนที่อาคารตามภาพที่คานไม้และหลังคาพังถล่มลงมาทั้งแถบจนไม่สามารถใช้การได้ และทางโรงเรียนได้กันเชือกประกาศเป็นเขตอันตรายห้าม ครู ผู้ปกครองและนักเรียนเข้าไปในบริเวณอาคารเรียนดังกล่าว คือโรงเรียนบ้านหนองบัว หมู่ 3 ต.วังอ่าง อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษานครศรีธรรมราช เขต 3 (สปพ.นศ.3) โดยเป็นโรงเรียนเก่าแก่มีอายุครบ 60 ปีเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา

ทั้งนี้เรื่องราวของอาคารเรียนโรงเรียนบ้านหนองบัวได้ถูกเปิดเผยขึ้นสืบเนื่องจากนางสุภาพร อุทยานรักษ์ ผอ.โรงเรียนบ้านหนองบัว พร้อมคณะครูได้เดินทางไปนิมนต์พระมหาอารยนันต์ อานันโท เจ้าอาวาสวัดเขาพระทอง หมู่ 1 ต.เขาพระทอง อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช เพื่อให้นำคณะสงฆ์ไปรับบิณฑบาตที่โรงเรียน ในวันที่ 28 ธ.ค. 2566 ที่จะถึงนี้ ซึ่งทางโรงเรียนจะจัดกิจกรรมทำบุญปีใหม่ส่งท้ายปีเก่า 2566 ต้อนรับปีใหม่ 2567 และเนื่องจากพระมหาอารยนันต์ เป็นศิษย์เก่าที่เคยเรียนโรงเรียนบ้านหนองบัวใอ 30 ปีก่อน และเคยนำเครื่องคอมพิวเตอร์ พระพุทธรูป และสมุดหนังสือมามอบให้กับโรงเรียนเมื่อ 10 ปีก่อน ประกอบกับโรงเนียนบ้านหนองบัวตั้งอยู่ตรงข้ามกับบ้านโยมแม่ของพระมหาอารยนันต์ ทำให้พระมหาอารยนันต์ ถือโอกาสเดินทางไปเยี่ยมโรงเรียนบ้านหนองบัวเมื่อวันที่ 21 พ.ย.2566 โดยขอให้นายไพฑูรย์ อินทศิลา ผู้สื่อข่าวอาวุโส ประธานศูนย์ข่าวนคร 24 ชม. และอุปนายกสมาคมสื่อมวลชนศรีธรรมราช ที่เดินทางมาติดตามทำข่าวการบูรณะ ฯพุทธสถานเชิงผา หลวงพ่อองค์ใหญ่ วัดเขาพระทอง ที่ฐานดังถล่มเสียหายจากฝนตกหนักติดต่อกันหลายวัน ช่วยขับรถไปส่ง จนได้พบสภาพของอาคารเรียนที่คานไม้โครงหลังคาและหลังคาชำรุดหักพังครืนลงมาทั้งอาคาร ซึ่งมีห้องอยู่รวม 3 ห้องดังกล่าว โดยเหตุอาคารพังถล่มเกิดเมื่อวันที่ 12 ส.ค. 2566 ที่ผ่านมา

จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่าอาคารหลังดังกล่าวซึ่งก่อสร้างมานานกว่า 30 ปี ก่อนพังถล่มใช้เป็นห้องเรียนอนุบาล 1-2 มีนักเรียนรวม 13 คน โครงหลังคาทำด้วยไม้หลังคามุงกระเบื้องชำรุด และถูกปลวกกัดกินต่อเนื่องเมื่อเกิดฝนตกและลมพายุพัดแรง ทำให้โครงหลังคาหักพังถล่มลงกระเบื้องแตกเป็นเศษเล็กเศษน้อยได้รับความเสียหายทั้งหมด ซึ่งโชคดีที่ขณะเกิดเหตุเป็นวันหยุดวันเสาร์ที่ 12 ส.ค. 2566 จึงไม่มีครู และนักเรียนได้รับอันตราย หากวันวันเปิดเรียนนักเรียนอนุบาลและครูผู้สอนจะได้รับอันตรายบาดเจ็บสาหัสหรือเสียชีวิตก็เป็นไปได้ และหลังเกิดเหตุนักการภารโรงได้ปิดล็อคกุญแจห้องและนำเชือกกั้นบริเวณอาคารที่พังถล่มเพื่อป้องกันอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นกับผู้ที่เข้าไปในบริเวณอาคารดังกล่าว ทั้งนี้โครงหลังคาและกระเบื้องมุงหลังคาได้พังถล่มเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง จนมีสภาพเสี่ยหายยับเยินจนถึงปัจจุบัน

ในขณะที่นางสุภาพร อุทยานรักษ์ ผอ.โรงเรียนบ้านหนองบัว เปิดเผยว่า โรงเรียนบ้านหนองบัว เปิดทำการเรียนการสอนเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2506 ในช่วงอาคารเรียนพังถล่มอยู่ในช่วงที่โรงเรียนจะมีอายุครบ 60 ปีพอดี ทางโรงเนียนได้ถ่ายภาพรายงานเหตุการณ์ให้ สปพ.นศ.เขต 3 ทราบและของบประมาณในการปรับปรุงซ่อมแซมส่วนหลังคาของอาคารหลังดังกล่าว จนทางผู้บริหารสำนักงานเขต ฯได้เข้ามาตรวจสอบและมีการประเมินงบประมาณในการปรับปรุงซ่อมแซมไว้ประมาณ 4.9 แสนบาท แต่หลังจากนั้นได้รับรายงานจากสำนักงานเขตว่าการของบประมาณฯไม่ผ่าน เนื่องจากโรงเรียนบ้านหนองบัวมีจำนวนนักเรียนรวมแค่ 54 คนไม่ถึงเกณฑ์ที่ทางราชการกำหนดไว้ 60 คนจึงจะได้รับการพิจารณางบประมาณตามระเบียบ

“อย่างไรก็ตามล่าสุดตนเห็นว่าเรื่องการปรับปรุงซ่อมแซมอาคารดังกล่าวเป็นความจำเป็นอย่างมากและถือเป็นเรื่องเร่งด่วน จึงทำเรื่องเสนอของบประมาณไปทาง สปพ.นส.3 อีกครั้ง ซึ่งล่าสุดทางผู้บริหาร สปพ.นศ. 3 แจ้งว่าได้เสนอเรื่องไปทางเบื้องบนเพื่อพิจารณาแล้ว แต่ไม่แน่ใจว่าจะได้รับการจัดสรรงบประมาณมาปรับปรุงซ่อมแซมหรือไม่ หลังเกิดเหตุไม่สามารถใช้งานใด ๆในอาคารหลังดังกล่าวได้ จึงย้ายนักเรียนอนุบาล 13 คนไปเรียนในห้องสมุดชั่วคราว นอกจากนี้อาคารอื่น ๆ อีก 2-3 หลังของโรงเรียนบ้านหนองบัวก็ชำรุด ฝ้าเพดาลพังถล่ม ส่วนที่เป็นไม้ก็ถูกปลวกกัดกินจนจะพังมิพังแหล่ ทั้งนี้เพราะอาคารทุกหลังผ่านการใช้ง่ายมาหลายสิบปี วัสดุอุปกรณ์ของอาคารน่าจะหมดอายุ แม้แต่อุปกรณ์ในสนามเด็กเล่นก็เป็นสนิมเก่าแก่พังชำทรุดเกือบทั้งหมดเช่นกัน จึงคาดหวังว่าทางผู้หลักผู้ใหญ่จะเมตตาจัดสรรงบประมาณลงมาปรับปรุงซ่อมแซมอาคารเรียนทั้งหมด โดยเฉพาะอาคารเรียนระดับอนุบาลที่พังถล่มเสียหายทั้งหลัง”

ผอ.โรงเรียนบ้านหนองบัว กล่าวอีกว่า ในปัจจุบันโรงเรียนมีบุคลากรรวม 9 คน เป็นข้าราชการ พนักงานราชการประจำ 5 คน นักการภารโรง ซึ่งเป็นลูกจ้างประจำ 1 คน ส่วนอีก 3 คนทางโรงเรียนต้องหารายได้มาจ้างครูเพิ่มเติมอีก 3 คนรวมเดือนละเกือบ 20,000 บาท โดยคณะบุคลากรทุกคนตั้งใจและทุ่มเทในการพัฒนาการเรียนการสอนให้มีคุณภาพเทียบเท่าโรงเรียนในตัวเมือง ในปีการศึกษา 2567 จะพยายามเพิ่มยอดนักเรียนให้ครบ 60 คนตามที่ราชการกำหนด แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ เพราะในพื้นที่บริหารมีเด็กน้อย ส่วนหนึ่งผู้ปกครองก็ให้ไปเรียนในโรงเรียนในตัวอำเภอชะอวด ในช่วงปิดเทอมจะพยายามลงพื้นที่ประชาสัมพันธ์ชี้แจงกับผู้ปกครองขอให้ใจนำบุตรหลานกลับมาเรียนโรงเรียนใกล้บ้านดีกว่าไปเรียนที่ห่างไกล

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าหลังจากเรื่องโรงเรียนบ้านหนองบัวถูกเปิดเผยได้รับความสนใจจากนักธุรกิจภาคเอกชนหลายรายที่จะช่วยสนับสนุนการปรับปรุงอาคารเรียนที่พังถล่มและพัฒนาโรงเรียนบ้านหนองบัว รวมทั้งสมาคมสื่อมวลชนจังหวัดนครศรีธรรมราช ที่จะเป็นสื่อกลางในการระดมทุนจากผู้ใจบุญเพื่อปรับปรุงซ่อมแซมอาคารเรียนและพัฒนาโรงเรียนบ้านหนองบัว

เรียบเรียง สยามนิวส์

อาคารเรียนพังถล่มทั้งหลัง ครู-นร. 54 คนก้มหน้ารับชะตากรรม เผย นร.ไม่ถึง 60 คนไม่เข้าเกณฑ์ได้รับงบ