เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 10 พ.ย.2566 ที่ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง แถลงนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน ดิจิทัลวอลเล็ต ว่า มีหลายคนถามว่าจะใช้สิทธิ์ยากหรือไม่ เข้าร่วมอย่างไรนั้น ขอประกาศว่าเราจะพัฒนาต่อยอดระบบ เป๋าตัง ซึ่งมีประชาชนลงทะเบียน 40 ล้านคน ร้านค้าที่คุ้นเคยกว่า 1.8 ล้านร้านค้า ซึ่งเป๋าตัง มีความพร้อมด้านเทคโนโลยีลดระยะเวลา งบประมาณ ซ้ำซ้อน
ซึ่งกระทรวงคลังก็คุ้นเคยในการกำกับดูแลป้องกันการทุจริตต่าง ๆ เราจะพัฒนาต่อยอดเป๋าตัง โดยมีบล็อกเชน อยู่เบื้องหลังเป็นโครงสร้างพื้นฐาน ป้องกันการทุจริตได้ หากฝ่าฝืนระบบจะตรวจสอบได้ทันที การมีบล็อกเชนจะเป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานได้ สร้างความโปร่งใส ลดการทุจตได้อย่างเป็นรูปธรรม
เรื่องนี้สามารถใช้ได้เมื่อใดนั้น จะผ่านการตีความโดยกฤษฎีกา ในช่วงปลายปีนี้ นำเข้าสู่สภาช่วงต้นปีหน้า จัดเตรียมงบประมาณและเปิดใช้ประชาชนใช้พ.ค.ปีหน้า ช่วงก่อนหน้านั้นจะมีอีรีฟันส์ ตั้งแต่เดือนม.ค. และโครงการเสริมสร้างขีดความสามารถ เริ่มได้เดือนมิ.ย.67 ทั้งนี้ ต้องเข้าสู่กระบวนการกฎหมาย ทำงานรัดกุม ก่อนเข้าครม. เพื่อได้รับการอนุมัติต่อไป
โดยกรอบเบื้องต้นจะไม่เสนอให้แจกเงินดิจิทัลแก่คนไทยที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไปที่มีกว่า 54 ล้านคนแบบถ้วนหน้าแล้ว หลังได้รับฟังข้อคิดเห็นหลายฝ่าย แต่จะให้ใช้เกณฑ์รายได้เข้ามาพิจารณาแบ่งเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรกจะไม่แจกคนที่เงินเดือนเกิน 25,000 บาท และหรือมีบัญชีเงินฝาก 1 แสนบาท ซึ่งมีอยู่ 43 ล้านคน ใช้งบ 4.3 แสนล้านบาท
กลุ่มสอง จะไม่แจกคนที่เงินเดือนเกิน 50,000 บาท และหรือมีบัญชีเงินฝาก 5 แสนบาท ซึ่งมีอยู่ 49 ล้านคน ใช้งบ 4.9 แสนล้านบาท และกลุ่มสุดท้ายแจกเฉพาะผู้ถือบัตรสวัสดิการที่มี 15 ล้านคน ซึ่งจะใช้งบประมาณ 1.5 แสนล้านบาท ซึ่งทั้ง 3 แนวทางนี้จะต้องรอคณะกรรมการชุดใหญ่เลือกอีกครั้งว่าจะเลือกให้กับกลุ่มคนใด