พรุ่งนี้ 19 ตุลาคม คุณจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยคลัง ในฐานะประธานอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท จะประชุมหน่วยงานทุกฝ่ายเป็นรอบสุดท้ายเพื่อสรุปรายละเอียดการแจกเงินดิจิทัล 560,000 ล้านบาท เช่น แหล่งที่มาของเงิน ไปจนถึง ระบบ และ การป้องกันการทุจริต ก่อนจะนำเสนอต่อคณะกรรมการชุดใหญ่ที่มี คุณเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในวันที่ 24 ตุลาคมนี้ ในขณะที่ คุณนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการ ป.ป.ช. ก็เปิดเผยว่า ป.ป.ช.กำลังเตรียมตั้งคณะกรรมการเพื่อศึกษาวิเคราะห์โครงการนี้ว่ามีความสุ่มเสี่ยงหรือไม่ จะเข้าเกณฑ์ชี้วัด ความเสี่ยงในการทุจริตเชิงนโยบาย เหมือนโครงการรับจำนำข้าวหรือไม่ แต่ดูเหมือน นายกฯเศรษฐา และ พรรคเพื่อไทย จะไม่สนใจเสียงท้วงติงของทุกฝ่าย ยังคงเดินหน้าลุยไฟเต็มที่
ล่าสุด นายกฯเศรษฐา ได้ทวีตผ่านแอปเอ็กซ์ ขอเสียงสนับสนุนจากประชาชนด้วยว่า หากท่านเห็นตรงกับผม และชอบโครงการนี้อยู่ ท่านอย่ายอมให้คนที่ไม่เห็นด้วยโดยไม่มีเหตุผล มายับยั้งโครงการนี้ และขอให้ส่งเสียงบอกกับพวกเราบ้างว่าท่านมีความสุข และดีใจที่รัฐบาลนี้ทำให้ เราเองก็อยากได้กำลังใจจากทุกคน เพราะพวกเราตั้งใจมาทำงานให้พี่น้องประชาชนจริงๆครับ” หวังดึงประชาชนมาเป็นพวกเดินหน้าชนกับเสียงค้านทุกเสียง
โครงการนี้ นายกฯเศรษฐา ลงทุนทุ่มหมดตัวเลยทีเดียว คุณจุลพันธ์ แถลงรายละเอียดเบื้องต้นหลังการประชุมรอบแรกว่า โครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท เป็น เงินบาทจริง ที่อยู่ในรูป เงินอิเล็กทรอนิกส์ (อี–มันนี่) สามารถแลกคืนออกมาเป็นเงินบาทไทยได้ทุกบาท สำหรับขั้นตอนการใช้จ่าย ประชาชนที่ได้สิทธิเงิน 10,000 บาท ในทอดแรก จะต้องใช้จ่ายให้หมดภายใน 6 เดือน หลังจากที่เริ่มโครงการ สามารถนำไปใช้จ่ายผ่าน ร้านค้ารายย่อย แผงลอย ในพื้นที่ที่กำหนด การออกแบบโครงการนี้
ตั้งใจให้เงินดิจิทัลวอลเล็ตเกิดการหมุนเวียนในระบบหลายๆทอด โดย ประชาชนทอดแรก จะต้องใช้จ่ายให้หมดภายใน 6 เดือน ส่วนร้านค้าที่ได้รับเงินไป อาจจะไม่มีการกำหนดระยะเวลาการใช้เหมือนทอดแรก เพราะต้องการให้มีเวลาสำหรับร้านค้าย่อยนำไปใช้จ่ายซื้อวัตถุดิบจากร้านค้าปลีกค้าส่ง ส่วน ร้านค้าปลีกค้าส่ง ที่จดทะเบียนในระบบภาษี ก็อาจเป็น ทอดสุดท้าย ที่มาขึ้นเงินสดกับรัฐบาล ผมขอสรุปเป็นข้อๆให้ชัดเจนก็คือ
1.ประชาชนที่ได้รับเงินดิจิทัล 10,000 บาท (ทอดแรก) จะเอาเงินดิจิทัลไปขึ้นเงินสดไม่ได้ ต้องนำไปใช้จ่ายให้หมดภายใน 6 เดือน
2.ร้านค้าย่อย/แผงลอย (ทอดที่ 2) ที่รับเงินดิจิทัลเป็นค่าสินค้าหรือค่าอาหาร ก็เอาไปขึ้นเป็นเงินสดไม่ได้ ต้องเอาเงินดิจิทัลที่ได้รับไปซื้อวัตถุดิบจากร้านค้าปลีกค้าส่งต่อทั้งหมด
3.ร้านค้าปลีกค้าส่ง (ทอดที่ 3) ซึ่งเป็นทอดสุดท้าย สามารถนำเงินดิจิทัลทั้งหมดไปขึ้นเป็นเงินสดได้ คำถามที่เกิดขึ้นก็คือ ร้านค้าย่อยแผงลอยที่รับเงินดิจิทัลมาทั้งหมด จะเอาเงินจากไหนมาเป็นกำไร เป็นค่าใช้จ่ายส่วนตัว ค่าเช่าบ้าน ค่าผ่อนรถผ่อนบ้าน ค่าใช้จ่ายในครอบครัว ค่าข้าว ค่ารถ ลูกไปโรงเรียนฯลฯ ถ้าต้องเอาเงินจากการขายของทั้งหมด ไปซื้อวัตถุดิบจากร้านค้าปลีกค้าส่งต่อ ไม่สามารถแลกเป็นเงินสดได้เลยตลอด 6 เดือนที่ค้าขาย แต่ต้นทุนค่าใช้จ่ายต่างๆล้วนรวมอยู่ในสินค้าที่ขายทั้งหมด
แต่นำเงินดิจิทัลที่ได้รับไปขึ้นเป็นเงินสดไม่ได้ ร้านค้าย่อยหากินเป็นรายวันอยู่แล้ว พวกเขาจะเอาอะไรกิน?
คนที่ขึ้นเป็นเงินสดได้ กลับเป็น ร้านค้าปลีกค้าส่ง ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นของ ห้างค้าปลีกยักษ์ใหญ่ แทบทั้งสิ้น หมายความว่า เงินสด 560,000 ล้านบาท ต้องไปอยู่ในมือของห้างค้าปลีกยักษ์ใหญ่ทั้งหมด อย่างนั้นหรือ เป็นคำถามใหญ่ที่รัฐบาลต้องมีคำตอบให้ชัดเจนครับ