ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า เตรียมเปลี่ยนเอกสารสิทธิ์ ส.ป.ก.4-01 ให้เป็นโฉนดสามารถซื้อขายเปลี่ยนมือได้ โดยจะดำเนินการเป็นรูปธรรมปลายปี 2566 เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ 2567 ให้เกษตรกรไทย เบื้องต้นได้รายงานให้นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง รับทราบแล้ว โดยจะนำร่องดำเนินการในจังหวัดที่มีความพร้อมก่อน จากนั้นจะขยายให้ครบในพื้นที่ ส.ป.ก. 4-01 ทั่วประเทศ
ร.อ.ธรรมนัส กล่าวต่อว่า สำหรับผู้ถือครอง ส.ป.ก.4-01 อย่างถูกต้องจะได้รับการเปลี่ยนเป็นโฉนด ส.ป.ก. อย่างแน่นอน โดยปัจจุบันมีประมาณ 36 ล้านไร่ 3 ล้านราย โดยเงื่อนไขจะสามารถถือครองไม่เกิน 50 ล้านไร่ กำหนดการถือครองเอกสารสิทธิ์เปลี่ยนเป็นโฉนด แต่คนที่ถือครองยังยืนยันว่าต้องมีคุณสมบัติต้องเป็นเกษตรกรเท่านั้น โดยโฉนดจะมีศักดิ์และศรีเท่ากับโฉนดของกระทรวงมหาดไทย สามารถจำหน่าย จ่ายโอนได้ จะส่งผลให้เกษตรกรมีเงินลงทุน มีรายได้มากขึ้นในช่วง 4 ปีหลังจากนี้
สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรรม(ส.ป.ก.) อยู่ระหว่างกำหนดกรอบการเปลี่ยนเป็นโฉนด ซึ่งสามารถทำได้ภายใต้กฎหมายที่มีอยู่ แต่ต้องมีความรอบคอบและมีรายละเอียดที่เอื้อประโยชน์ต่อเกษตรกรเป็นหลัก ไม่ให้ถูกเอาเปรียบจากกลุ่มนายทุน ซึ่งผมมั่นใจว่าโครงการนี้จะสร้างมูลค่าให้กับที่ดินในเขต ส.ป.ก. มากขึ้น
นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก. ) กล่าวว่า ส.ป.ก.อยู่ระหว่างการหารือกับธนารักษ์และนักวิชาการ เพื่อประเมินราคาที่ดิน ส.ป.ก.ทั่วประเทศ ให้คณะอนุกรรมการประเมินมูลค่าที่ดินและทรัพย์สินให้เกิดมูลค่า เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ที่ไม่อยากทำกินสามารถคืนที่ดินให้ ส.ป.ก.ได้ เพื่อกำหนดราคาชดเชย หรือการคืนเงินให้เจ้าของที่ดินอย่างเหมาะสม และจะกำหนดราคาเพื่อการซื้อขายแลกเปลี่ยนได้
นายวิณะโรจน์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ จะเป็นประโยชน์กับเกษตรกรที่ซื้อหรือเช่าซื้อที่ดินที่ส.ป.ก. ได้มาจากการซื้อที่ดินของเอกชน ซึ่งที่ดินเหล่านี้เป็นโฉนดอยู่แล้ว แต่ยังโอนให้เป็นกรรมสิทธิ์ของเกษตรกรไม่ได้เพราะติดมาตรา 39
นายวิณะโรจน์ กล่าวอีกว่า ในวันที่ 12 ต.ค.นี้ การประชุมคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (คปก.) จะเสนอให้พิจารณาระเบียบการเปลี่ยนเอกสารสิทธิ์ ส.ป.ก.4-01 ให้เป็นโฉนด ซึ่งเป็นการยกระดับระเบียบปี 2564 ภายใต้กฎหมาย ส.ป.ก. ปี 2518 ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการคัดเลือกและจัดที่ดินให้แก่เกษตรกร การโอน ตกทอดทางมรดกสิทธิการเช่าหรือเช่าซื้อ และการจัดการทรัพย์สินและหนี้สินของเกษตรกรผู้ได้รับที่ดิน พ.ศ… ที่อนุญาตให้เกษตรกรคืนพื้นที่ได้กรณีที่ไม่อยากทำกินในพื้นที่แล้ว หรือสามารถโอนให้ผู้ถือครองรายอื่น เนื่องจากเป็นผู้ชรา พิการ ทุพพลภาพหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบจนไม่สามารถประกอบการเกษตรได้
ดังนั้น การเปลี่ยนเป็นโฉนดจะสามารถขยายความได้จากระเบียบดังกล่าว ภายใต้เงื่อนไขที่สำคัญคือ แม้จะเป็นฉโนดไปแล้วแต่ที่ดินยังเป็นของส.ป.ก. ผู้ถือครองต้องประกอบอาชีพเกษตรกรรมต่อไป และถือครองได้ไม่เกิน 50 ไร่ เท่านั้น วิธีการนี้จะแก้ปัญหานายทุนการถือครองที่ดินจำนวนมาก ในขณะที่ส.ป.ก. ยังมีสิทธิที่การเข้าไปพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ร่วมบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการตรวจสอบการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีกว่า เมื่อเทียบกับผู้ถือครองโฉนดที่ดินของกระทรวงมหาดไทย
การขยายระเบียบเพื่อให้ครอบคลุมการเปลี่ยนส.ป.ก.4-01 ให้เป็นโฉนดนั้นไม่ได้ยุ่งยาก เพราะมีอนุกรรมการ หากคปก. เห็นชอบก็สามารถดำเนินการได้ทันทีโดยไม่ต้องเสนอให้คณะรัฐมนตรี(ครม.) พิจารณา โดยส.ป.ก. จะเริ่มดำเนินการในพื้นที่ในจังหวัดที่มีระบบแผนที่ที่สมบูรณ์ก่อน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาตามมาในภายหลังกรณีเกิดพื้นที่ทับซ้อน หรืออื่นๆ ที่เป็นไปได้ นายวิณะโรจน์ กล่าว