ในวาระวันสตรีสากล เมื่อวันที่ 8 มีนาคมที่ผ่านมา สหประชาชาติ (ยูเอ็น) เผยข้อมูลว่า อัฟกานิสถานกลายเป็นประเทศที่ผู้หญิงและเด็กผู้หญิงถูกกดขี่มากที่สุดในโลก เนื่องจากตั้งแต่กลับไปปกครองประเทศ ทาลิบันก็ลิดรอนสิทธิขั้นพื้นฐานของสตรีเพศเกือบทั้งหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการห้ามไม่ให้เด็กหญิงเรียนเกินกว่าชั้นประถม รวมถึงห้ามทำงาน ห้ามเล่นกีฬา และอีกมากมาย ก่อนหน้ากลุ่มทาลิบันกลับสู่อำนาจ วงการกีฬาหญิงของอัฟกานิสถานค่อยๆ เติบโตและพัฒนาในทางบวกมากขึ้น เมื่อองค์กรกีฬาในประเทศสนับสนุนและผลักดันให้ผู้หญิงเล่นกีฬามากขึ้น และมีนักกีฬาหญิงเป็นตัวแทนประเทศเข้าร่วมการแข่งขันต่างๆ มากขึ้นถึงราว 20 เปอร์เซ็นต์ แต่ทันทีที่ทาลิบันกลับไปปกครองประเทศเมื่อ 2 ปีที่แล้ว กระบวนการพัฒนาก็หยุดชะงักลง
และนับถอยหลังไปเริ่มต้นจากศูนย์ใหม่ เมื่อนักกีฬาหญิง (และชายส่วนหนึ่ง) ต้องระหกระเหินหนีออกจากอัฟกานิสถานขอลี้ภัยยังประเทศต่างๆ เนื่องจากมีความเสี่ยงสูงหากยังอยู่ที่บ้านเกิดท่ามกลางกฎข้อบังคับและข้อจำกัดต่างๆ สำหรับมหกรรมกีฬา เอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 19 ที่นครหางโจว ประเทศจีน ซึ่งกำลังทำการแข่งขันอยู่ในขณะนี้ นับเป็นมหกรรมกีฬาภูมิภาคเอเชียหนแรกที่อัฟกานิสถานเข้าร่วมภายใต้การปกครองของทาลิบันรอบใหม่ ซึ่งรัฐบาลทาลิบันส่งทัพนักกีฬาและเจ้าหน้าที่ชายล้วนเข้าร่วมแข่งขันรวมแล้วกว่า 120 ชีวิต ใน 17 ชนิดกีฬา กระนั้น ข้อจำกัดดังกล่าวก็ไม่อาจห้ามนักกีฬาหญิงอัฟกันในการมีส่วนร่วมกับมหกรรมกีฬาครั้งนี้ได้ เมื่อนักกีฬาหญิงอัฟกัน 17 ชีวิต
ซึ่งกระจัดกระจายกันในประเทศต่างๆ เดินทางไปรวมตัวกันที่หางโจวเพื่อเข้าร่วมเอเชี่ยนเกมส์ ครั้งนี้ โดยความช่วยเหลือของสหพันธ์กีฬานานาชาติหลายองค์กร นักกีฬาหญิงทีมชาติอัฟกานิสถานที่เข้าร่วมการแข่งขันครั้งนี้ ประกอบด้วย ทีมวอลเลย์บอล 12 คน ส่วนใหญ่ลี้ภัยอยู่ที่อิหร่านและปากีสถาน, นักจักรยานลี้ภัยที่อิตาลี และนักกรีฑาลี้ภัยที่ออสเตรเลีย หนึ่งในผู้มีบทบาทสำคัญในการประสานงานเพื่อผลักดันให้นักกีฬาหญิงอัฟกานิสถานเข้าร่วมแข่งขันเอเชี่ยนเกมส์ครั้งนี้คือ ฮาฟิซุลลาห์ วาลี ราฮิมี อดีตประธานคณะกรรมการโอลิมปิอัฟกานิสถาน ดำรงตำแหน่งก่อนทาลิบันเข้าปกครองประเทศ ปัจจุบันราฮิมีทำงานด้านกีฬานอกบ้านเกิดของตัวเอง แต่ยังคงได้รับการรับรองจากองค์กรกีฬาหลายๆ ประเทศในฐานะตัวแทนกีฬาหลักของอัฟกานิสถาน ราฮิมีเผยว่า
นักกีฬาหญิงเหล่านี้เข้าร่วมแข่งขันหางโจวเกมส์ด้วยเหตุผลหลักคือความรักในกีฬา และทุกคนอยากจะดึงกีฬาออกจากการเมือง เพื่อที่นักกีฬาอัฟกานิสถานทั้งในและนอกประเทศจะสามารถเล่นกีฬาและแข่งขันได้อย่างอิสระ ขณะที่เจ้าหน้าที่ประจำทีมชาติอัฟกานิสถาน ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาลทาลิบัน ยืนยันกับสื่อต่างประเทศว่า เคารพในสิทธิของนักกีฬาหญิงอัฟกันในการเข้าร่วมหางโจวเกมส์ในครั้งนี้ จึงไม่ได้ต่อต้านแต่อย่างใด คิเมีย ยูโซฟี นักกรีฑาหญิงวัย 27 ปี ที่ลี้ภัยไปอยู่ออสเตรเลีย และเข้าเส้นชัยเป็นอันดับสุดท้ายในการแข่งขันวิ่ง 100 และ 200 เมตรหญิง รอบคัดเลือกฮีตของตัวเอง กล่าวว่า สิ่งสำคัญสำหรับตัวเองคือการเข้าร่วมในฐานะตัวแทนของผู้หญิงอัฟกานิสถาน เพื่อเป็นตัวแทนของหญิงสาวชาวอัฟกันที่ไม่ได้รับอนุญาตให้เรียนหรือเล่นกีฬา แม้จะมีข้อจำกัด ก็ขอให้พยายามด้วยตัวเอง เช่น หาหนังสืออ่านเอง ทำอะไรก็ได้เพื่อตัวเอง
ขณะที่ ทีมนักวอลเลย์บอลหญิงอัฟกานิสถาน แม้แพ้ให้กับทีมคาซัคสถานเมื่อวันที่ 30 กันยายนที่ผ่านมาไป 3 เซตรวด และพ่ายให้กับญี่ปุ่นแบบขาดลอย 0 ต่อ 3 เซต โดยได้คะแนนเพียง 7 แต้มเท่านั้น ด้วยสกอร์ 25-2, 25-0, 25-5 เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม ที่ผ่านมา แต่ทีมวอลเลย์บอลหญิงของอัฟกัน ชนะใจคนทั้งโลก ด้วยเพราะกว่าที่พวกเธอจะมาลงแข่งขันในเอเชี่ยนเกมส์ครั้งนี้ มีอุปสรรคมากมาย เนื่องนักกีฬาแต่ละคนล้วนมาจากปากีสถาน, อินเดีย, ออสเตรเลีย, สหราชอาณาจักร และประเทศอื่นๆ ที่พวกเธออพยพไปอยู่
แล้วไปเก็บตัวซ้อมอยู่ที่ปากีสถาน ก่อนจะมาแข่งขันที่หางโจว ประเทศจีน มูร์ซาล เคดรี หนึ่งในสมาชิกทีมวอลเลย์บอลหญิงอัฟกานิสถาน เผยว่า การเข้าร่วมแข่งขันในครั้งนี้คือความหวังสำคัญของหญิงสาวชาวอัฟกัน เป็นการสื่อสารบอกให้ทุกคนรู้ว่าพวกเราไม่เคยทิ้งความฝัน และจะไล่ตามความฝันกันต่อไป หากวัดกันในแง่คะแนนและสถิติ ผลงานของนักกีฬาหญิงอัฟกานิสถานในเอเชี่ยนเกมส์หนนี้อาจเป็นรองคู่แข่งอย่างมาก แต่การปรากฏตัวและเข้าร่วมของพวกเธอมีความหมายยิ่งกว่านั้นมากมายนัก แม้ในเกมกีฬาจะพ่ายแพ้แก่คู่แข่ง แต่พวกเธอชนะใจคนทั้งโลก