อัยการอินโดนีเซียเผยยาน้ำเชื่อมแก้ไอยี่ห้อหนึ่งของผู้ผลิตแดนอิเหนาที่เป็นสาเหตุทำให้เด็กเสียชีวิตกว่า 200 คนเมื่อปีที่แล้วมี “สารพิษ” ปนเปื้อนสูงสุดถึง 99%
อัยการอิเหนาได้ยื่นฟ้องต่อศาลในเมืองเกอดิรี (Kederi) จังหวัดชวาตะวันออก ซึ่งเป็นที่ตั้งของบริษัท อาฟี ฟาร์มา (Afi Farma) ผู้ผลิตยาน้ำเชื่อมแก้ไอที่เป็นปัญหา โดยกรณีนี้เกิดขึ้นในขณะที่ทั่วโลกหันมาเพิ่มมาตรการคุมเข้มความปลอดภัยของยา หลังมีเด็กหลายสิบคนในแกมเบียและอุซเบกิซสถานเสียชีวิตจากการกินยาน้ำแก้ไอที่มีสารพิษปนอยู่
เอกสารคำฟ้องระบุว่า สารโพรพิลีนไกลคอล (propylene glycol) จำนวน 2 ล็อตซึ่งบริษัท อาฟี ฟาร์มา รับมาจากซัพพลายเออร์ในช่วงเดือน ต.ค. ปี 2021 ถึง ก.พ. ปี 2022 และนำมาใช้เป็นสารตั้งต้นในการผลิตยาน้ำเชื่อม มีเอทิลีนไกลคอล (ethylene glycol - EG) ซึ่งเป็นสารอันตรายเจือปนอยู่มากถึง 96-99%
เอียะห์ซาน นัสรุลเลาะห์ อัยการในคดีนี้ บอกกับรอยเตอร์ว่าทางตำรวจได้ยืนยันผลตรวจดังกล่าวเมื่อปีที่แล้ว ขณะที่ทนายของ อาฟี ฟาร์มา โต้แย้งว่าไม่มีหลักฐานพิสูจน์ได้ว่าบริษัท เจตนา ผสมสารพิษลงในยา อีกทั้งองค์การอาหารและยาแห่งชาติอินโดนีเซีย (BPOM) ก็ไม่ได้มีกฎบังคับให้ผู้ผลิตเวชภัณฑ์ต้องหมั่นตรวจเช็คองค์ประกอบต่างๆ ของยาอย่างเข้มงวดด้วย
อาฟี ฟาร์มา เป็นหนึ่งใน 4 บริษัทที่ถูกตำรวจอินโดนีเซียแจ้งข้อหาในกระบวนการสอบสวนกรณียาน้ำแก้ไอปนเปื้อนสารพิษ ซึ่งศาลมีกำหนดนัดไต่สวนในวันที่ 18 ต.ค. นี้
องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดค่ามาตรฐานความปลอดภัยสำหรับการใช้สาร EG และไดเอทิลีนไกลคอล (DEG) สูงสุดไม่เกิน 0.10% ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขอินโดนีเซียก็ได้ประกาศใช้ค่าดังกล่าวในมาตรฐานการผลิตยาเมื่อปี 2020
EG เป็นเคมีภัณฑ์ชนิดหนึ่งที่ถูกใช้เป็นสารป้องกันน้ำแข็งตัว (antifreeze) ละลายน้ำแข็งสำหรับรถยนต์ และใช้ประโยชน์ในด้านอื่นๆ แต่หากรับประทานเข้าไปจะเป็นพิษต่อตับอย่างรุนแรง
ผู้เชี่ยวชาญด้านยาให้ข้อมูลกับรอยเตอร์ว่า ทั้ง EG และ DEG มักถูกผู้ผลิตที่ขาดความรับผิดชอบนำมาใช้ทดแทนสารโพรพิลีนไกลคอล เพราะราคาถูกกว่ากันเกินครึ่ง