วันที่ 25 ตุลาคม นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานกรรมการคณะอนุกรรมการดิจิทัลวอลเล็ต เปิดเผยว่า ที่ประชุมมีความเห็นตรงกันให้ปรับเงื่อนไขการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ให้สามารถใช้ได้ภายในอำเภอ จากเดิมที่จำกัดในรัศมี 4 กิโลเมตร เนื่องจากพื้นที่ไม่ใหญ่จนเกินไปและมีร้านค้ากระจายเพียงพอต่อการรองรับการใช้จ่ายของประชาชน
ทั้งนี้ ที่ประชุมมีความเห็นแตกต่างเรื่องกลุ่มเป้าหมาย และไม่สามารถหาข้อสรุปได้ โดยส่วนหนึ่งเห็นว่า เพื่อให้ตรงกับจุดประสงค์ที่ต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจ ต้องการให้คนร่วมมาก ๆ แบ่งเบาภาระประชาชน จึงเสนอให้ตัดคนรวยหรือผู้ที่มีรายได้ดีออก โดยคำจำกัดความยังไม่เป็นที่สรุป แต่กำหนดตัวเลือกไว้ 3 แบบ ได้แก่
ตัดกลุ่มผู้มีเงินเดือนถึง 25,000 บาท และ/หรือ มีบัญชีเงินฝากถึง 1 แสนบาทออก เหลือผู้ได้สิทธิ์ 43 ล้านคน ใช้งบประมาณราว 4.3 แสนล้านบาท
ตัดกลุ่มผู้มีเงินเดือนถึง 50,000 บาท และ/หรือ มีบัญชีเงินฝากถึง 5 แสนบาทออก เหลือผู้ได้สิทธิ์ 49 ล้านคน ใช้งบประมาณราว 4.9 แสนล้านบาท
ให้สิทธิ์เฉพาะผู้ยากไร้ ซึ่งมีอยู่ราว 15-16 ล้านคน โดยใช้ฐานข้อมูลจากบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ใช้งบประมาณราว 1.5 แสนล้านบาท
โดยจะนำเสนอคณะกรรมการชุดใหญ่ ที่มี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคลัง เป็นประธานประชุมตัดสินใจ ในสัปดาห์หน้า เผยที่มาของแหล่งเงิน ย้ำไม่มีการใช้เงินจากออมสิน
ในส่วนของแหล่งเงินที่จะใช้ในการดำเนินการยังคงเน้นการใช้งบประมาณแผ่นดินเป็นหลัก กลไกดำเนินการคือผ่านพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณ ซึ่งมีข้อเสนอให้ดำเนินการโดยใช้งบผูกพัน เช่น หากโครงการ 4 แสนล้านบาท ก็ตั้งงบผูกพัน 4 ปี โดยเบิกจ่ายปีละ 1 แสนล้านบาท ดังนั้น การขึ้นเงินของร้านค้าก็อาจจะต้องชะลอไป ซึ่งต้องกำหนดในเงื่อนไข และเป็นตัวเลือกที่จะเสนอให้ คณะกรรมการฯ พิจารณาอย่างจริงจัง
อย่างไรก็ตาม ยังมีทางเลือกอื่นสำหรับแหล่งเงินที่จะใช้เสนอไปด้วย เช่น การกู้เงิน แต่เป็นทางเลือกท้าย ๆ เช่นเดียวกับการใช้มาตรการกึ่งการคลัง ผ่านมาตรา 28 พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง โดยยืนยันว่าจะไม่เกี่ยวข้องกับธนาคารออมสินแล้ว เพราะติดขัดข้อกฎหมาย กรอบอำนาจหน้าที่ไม่ครอบคลุมการดำเนินการ