นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง แถลงข่าวถึงโครงการเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาทว่า ยืนยันว่ารัฐบาลจะเดินหน้าทำแน่นอน เพราะเป็นสิ่งที่ชาวบ้านเฝ้ารอ และมีความจำเป็นต่อการปลุกเศรษฐกิจไทยให้โต 5% หลังต้องเติบโตต่ำกว่าศักยภาพที่ 2% มายาวนาน จนอาจเป็นปัญหาต่อการรับมือสังคมสูงวัย และไม่ทำให้ชาวบ้านหลุดพ้นกับดักความลำบาก แต่ขณะเดียวกัน รัฐบาลก็พร้อมรับฟังความเห็นที่แตกต่างจากนักวิชาการ เอกชน และยังรักกันดีกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
ซึ่งจากนี้จะนำทุกความเห็นเข้ามาหารือในคณะอนุกรรมการเพื่อเสนอคณะกรรมการเงินดิจิทัลชุดใหญ่ ทั้งนี้ แนวทางที่รัฐบาลกำลังทบทวนอยู่ เช่น เงื่อนไขรัศมีที่ใช้เงินใน 4 กม. ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะขยายกรอบให้เกิดความคล่องตัว อาจเป็นตำบล อำเภอ หรือจังหวัด โดยจะได้ข้อสรุปภายในสิ้นเดือน ต.ค. นี้ ส่วนข้อเสนอให้แจกเงินเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ก็จะนำข้อเสนอต่างๆ มาทบทวน ซึ่งแน่นอนว่ากลุ่มเปราะบางจะต้องได้รับแน่ ส่วนกลุ่มคนที่มีรายได้สูงก็จะพิจารณาอีกครั้ง แต่ก็ต้องดูไม่ให้กระทบต่อวัตถุประสงค์ของโครงการด้วย แต่ส่วนตัวเชื่อว่าคนรวยอยู่แล้วคงไม่เข้าร่วม
นายจุลพันธ์ ยืนยันว่ารัฐบาลจะดูการเติบโตทางเศรษฐกิจ ควบคู่กับการรักษาเสถียรภาพ ส่วนที่มาของเงินที่จะใช้แค่ไหน จะต้องรอสรุป เพราะมีที่มาขอเงินได้หลายทาง แต่มั่นใจว่าส่วนใหญ่จะมาจากการใช้งบประมาณ ซึ่งสามารถตัดลดโครงการที่ไม่จำเป็นได้ นอกจากนี้ ขอปฏิเสธว่าโครงการเงินดิจิทัล ไม่ได้เป็นคริปโตเคอร์เรนซี เงินทุกบาทยังเป็นไปตามกฎหมาย ธปท. ไม่ใช่พิมพ์เงินขึ้นมาใหม่ หรือเขียนโปรแกรมมาใหม่ ไม่มีปรับมูลค่า มีการสำรองแบบบาทต่อบาท แต่ใช้ในบาทดิจิทัล
และจะมีการใช้ภายใต้เงื่อนไขที่เหมาะสม ให้เกิดเงินหมุนเวียนต่อเศรษฐกิจหลายรอบ ทั้งนี้ ในวันที่ 12 ต.ค. ประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อน มาหารือความจำเป็น ประโยชน์ วัตถุประสงค์โครงการ จากนั้น 19 ต.ค. ประชุมคณะอนุกรรมการเป็นครั้งที่ 2 หารือก่อนเข้าชุดใหญ่ และวันที่ 24 ต.ค. เสนอเข้าคณะกรรมการใหญ่ มีข้อเสนอหรือสั่งการอย่างไร เป็นการตัดสินใจชุดใหญ่ ซึ่งหากไม่มีอะไรจะได้ข้อยุติแน่นอน