นายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า การจัดเก็บภาษีปี 2567 คือเศรษฐกิจไทยในภาพใหญ่ชะลอตัวหลังสภาพัฒน์ปรับลดจีดีพีปี 2566 เหลือ 2.5 – 3.0% จากเดิมคาด 2.7-3.7% ซึ่งยอมรับว่า จะส่งผลกระทบต่อการจัดเก็บภาษีบ้าง แต่กรมสรรพากรจะพยายามเพิ่มประสิทธิภาพ และเทคโนโลยีด้านการจัดการข้อมูล (data) และ AI ไปตรวจดูความผิดปกติการเสียภาษีอย่างไม่ถูกต้อง เชื่อว่าจะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า
สำหรับประกาศของกรมสรรพากร ที่มีแผนจัดเก็บภาษีสำหรับคนไทยที่มีรายได้ในต่างประเทศและนำรายได้ดังกล่าวเข้ามาในประเทศไทย โดยต้องเสียภาษีในปีที่นำรายได้เข้ามานั้น ตามหลักการการจัดเก็บภาษีของกรมสรรพากรและของประเทศไทย ได้ใช้ 2 เกณฑ์การจัดเก็บภาษี คือตามถิ่นที่อยู่ในประเทศไทยไม่น้อยกว่า 180 วัน และตามหลักรับรู้รายได้ทั่วโลก
ไทยมีการใช้ พ.ร.ก.จัดเก็บข้อมูล ส่งผลให้บริบทในการจัดเก็บภาษีตามหลักการทั้งสองข้อดังกล่าวเปลี่ยนไป เนื่องจากในอดีตข้อมูลของคนไทยที่มีรายได้อยู่ต่างประเทศนั้นยากที่จะได้มาหรือจำเป็นต้องมีการร้องขอ แต่ปัจจุบันในยุคเทคโนโลยีที่ข้อมูลข่าวสารที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้จำเป็นต้องมีการเปลี่ยนบริบทในการจัดเก็บภาษี ตามพัฒนาการกติกาการเก็บภาษีโลกที่ไทยเข้าเป็นสมาชิกของ Global forum
ทั้งนี้ยืนยันว่า จะไม่มีการเก็บภาษีซ้ำซ้อน เนื่องจากประเทศไทยมีอนุสัญญาภาษีซ้อนกับหลายหลายประเทศ รวมทั้งประเทศคู่ค้าสำคัญ หากเสียภาษีในต่างประเทศแล้ว ก็จะไม่มีการเก็บภาษีซ้ำซ้อนในไทยอีก สำหรับอัตราการจัดเก็บภาษีต้องไปดูคู่สัญญาภาษีซ้อนที่ทำกับแต่ละประเทศซึ่งจะมีอัตราแตกต่างกัน โดยในระยะสั้นจะมีการดำเนินการในลักษณะออกประกาศ แต่ในระยะยาวจะเป็นการออกประมวลรัษฎากรที่ชัดเจน ยืนยันว่าการดำเนินการทั้งหมดเพื่อการจัดเก็บภาษีที่ถูกต้องเป็นธรรมสำหรับคนไทยที่ไม่ว่าจะลงทุนในประเทศหรือต่างประเทศแล้วมีรายได้ในลักษณะเดียวกัน ก็จะต้องเสียภาษีคล้ายๆ กัน โดยจะเริ่มจัดเก็บในปีภาษี 2567 และยื่นเสียภาษีในปี 2568