วันที่ 16 กันยายน 2566 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ พระบรมราชโองการ พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 780) พ.ศ. 2566 ใจความว่า ขยายเวลาลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ VAT ออกไปอีก 1 ปี
โดยประกาศในช่วงหนึ่งระบุไว้ว่า ให้คงจัดเก็บในอัตราร้อยละ 6.3 (เมื่อรวมภาษีท้องถิ่น เท่ากับ 7%) สำหรับการขายสินค้า การให้บริการ หรือการนำเข้าทุกกรณี ซึ่งความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2560 ถึงวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2567
เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ เพื่อเป็นการสนับสนุนการฟื้นตัวของการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคภายในประเทศ และบรรเทาภาระค่าครองชีพให้แก่ประชาชน รวมทั้งสร้างความเชื่อมั่นทางธุรกิจให้แก่ภาคเอกชน สมควรขยายเวลาการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มเหลือร้อยละ 6.3 ออกไปจนถึงวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2567 จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้
ก่อนหน้านี้ มีรายงานว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธานมีมติเห็นชอบขยายระยะเวลาการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มเหลือร้อยละ 7 (รวมภาษีท้องถิ่น) ออกไปอีก 1 ปี สำหรับการขายสินค้า การให้บริการ หรือการนำเข้าทุกกรณีตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2567 เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนภายในประเทศ
รวมทั้งสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ภาคธุรกิจ อันจะทำให้เศรษฐกิจไทยสามารถขยายตัวได้ตามเป้าหมายที่คาดการณ์ไว้ ซึ่งจะนำไปสู่ความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ
ส่วนกระแสข่าวเรื่องการขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม อีกร้อยละ 3 (VAT 10%) สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ยืนยันเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม ที่ผ่านมา ว่ายังไม่มีนโยบายขึ้นภาษีดังกล่าว