เมื่อวันที่ 14 กันยายน ที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการ ศธ.กล่าวในการแถลงข่าวภายหลังมอบนโยบายการศึกษา และแนวทางการขับเคลื่อนนโยบาย เรียนดี มีความสุข มีผู้บริหาร ศธ.และข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาทั่วประเทศ เข้าร่วมรับมอบนโยบายผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ว่า อยากให้ทุกคนร่วมมือกันอย่างเต็มที่ เพื่อขับเคลื่อน ผลักดันการจัดการศึกษาให้ดี โดยมีแนวทางการจัดการศึกษา 2 รูปแบบ คือ การเรียนสู่ความเป็นเลิศ และการเรียนเพื่อความมั่นคงในชีวิต ซึ่งกลายเป็นมายแมพง่ายๆ ดังนี้ ลดภาระข้าราชการครูฯ ได้แก่ 1.ปรับวิธีการประเมินวิทยฐานะครู ลดขั้นตอนมุ่งผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียน 2.ครูและบุคลากรทางการศึกษาคืนถิ่น โยกย้ายกลับภูมิลำเนาด้วยความโปร่งใส ไม่ซื้อขายตำแหน่ง รวมทั้งอาจต้องใช้บทลงโทษที่เข้มงวด กับผู้ที่เรียกรับผลประโยชน์ในการโยกย้าย ตนมีนิสัยที่ว่าถ้าเตือนแล้วไม่ฟังจะกัดไม่ปล่อย อย่าคิดเอาใครมาเคลียร์ จึงอยากขอร้องว่าอย่าไปรีดเลือดครูด้วยกัน
พล.ต.อ.เพิ่มพูนกล่าวอีกว่า 3.การแก้ไขปัญหาหนี้สินครูฯ ต้นสังกัดประสานการจัดการให้ครูฯ ได้รีไฟแนนซ์ หรือรวมหนี้เป็นก้อนเดียว เพื่อลดภาระการผ่อนชำระ โดยลดดอกเบี้ยให้ถูกลง ระยะเวลาผ่อนส่งยาวขึ้น พักชำระดอกเบี้ยให้แก่ครูฯที่เป็นหนี้สหกรณ์ออมทรัพย์ครู และสถาบันการเงิน โดยรัฐบาลจ่ายดอกเบี้ยให้แก่ผู้มีวงเงินกู้ไม่เกิน 1 ล้านบาท เป็นเวลา 3 ปี โดยชำระเพียงเงินต้น เพื่อสร้างขวัญกำลังใจ และลดภาระค่าใช้จ่ายให้ครูทั่วประเทศ
สมัยที่ผมเป็นตำรวจเคยเป็นกรรมการแก้ไขปัญหาหนี้สินตำรวจ ได้รับความร่วมมือจากผู้ใต้บังคับบัญชา มีปรัชญาในการแก้หนี้คือ ไม่เบี้ยว ไม่หนี ไม่มี ไม่จ่าย ไม่ตาย เป็นสิ่งสำคัญ ผมจะบอกตำรวจเสมอว่าเป็นหนี้อย่าตาย เพราะตายแล้วคนอื่นจะอยู่อย่างไร รวมถึงจะบอกเพื่อนตำรวจเสมอว่า ถ้าตำรวจที่เป็นลูกหนี้จะตายจะใส่ซองเท่าไหร่ ให้จ่ายมาก่อน ถ้าใส่ 500 บาท ก็ให้ไปเลย 500 บาท ถ้าผู้บังคับบัญชาจะใส่ 5,000 บาท ก็ให้ไปเลย เพราะตายไปแล้วก็เอาไปไม่ได้ ต้องช่วยกันตอนนี้ มีตำรวจหลายรายที่อับจนด้วยปัญญา และบอกปัญหาก็ช่วยได้หลายคน ผมมองว่าครูก็ไม่ได้แตกต่างกัน คงมีคนที่อยากฆ่าตัวตาย แต่ครูไม่มีปืน เลยไม่ฆ่าตัวตาย ซึ่งก็ดีแล้ว พล.ต.อ.เพิ่มพูนกล่าว
พล.ต.อ.เพิ่มพูนกล่าวต่อว่า 4.จัดหาอุปกรณ์การสอนเสริมต่างๆ ให้กับครู เช่น โครงการ 1 ครู 1 แท็บเล็ต ซึ่งเป็นโยบายรัฐบาลที่จะต้องดำเนินการสอดรับ บูรณาการความร่วมมือกับภาคเอกชน และภาครัฐ
พล.ต.อ.เพิ่มพูนกล่าวอีกว่า สำหรับแนวทางลดภาระนักเรียน และผู้ปกครอง ดังนี้ 1.เรียนทุกที่ทุกเวลา เรียนฟรี มีงานทำ ยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง 2.ทำ 1 อำเภอ 1 โรงเรียนคุณภาพ 3.ระบบแนะแนวการเรียน หรือโค้ชชิ่ง และเป้าหมายชีวิต พัฒนา และปรับปรุงหลักสูตร 4.การจัดทำระบบวัดผลรับรองมาตรฐานวิชาชีพ 5.จัดระบบวัดผลเทียบระดับการศึกษา และประเมินผลการศึกษา และ 6.มีรายได้ระหว่างเรียน จบแล้วมีงานทำ
ทั้งหมดนี้ เป็นมายแมพในการทำงาน แต่ยังมีข้อสั่งการ และแนวปฏิบัติ อาทิ ให้นำนโยบายรัฐบาล นโยบายของคณะรัฐมนตรี (ครม.) และรัฐมนตรีว่าการ ศธ.ไปดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม ป้องกันปราบปรามการทุจริต เช่น การบรรจุแต่งตั้งโยกย้าย ห้ามซื้อขายตำแหน่ง ส่งเสริมการอ่านอย่างเป็นกระบวนการ ซึ่งเป็นนโยบายรัฐบาล และนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้เน้นย้ำให้ ศธ.ช่วยผลักดันสร้างนิสัยรักการอ่าน โดยอยากให้ผู้บริหาร และครู เป็นต้นแบบในการรักการอ่าน พล.ต.อ.เพิ่มพูนกล่าว
พล.ต.อ.เพิ่มพูนกล่าวอีกว่า ส่วนการลงพื้นที่ตรวจราชการ ขอความร่วมมือให้เฉพาะผู้ที่เกี่ยวข้องมาเข้ารับการตรวจเยี่ยม ผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องไม่ต้องเดินทางมา อยากให้เป็นไปด้วยความเรียบง่าย และประหยัด ขอเน้นผู้บริหารทุกระดับ เวลาประชุม อยากให้ประชุมผ่านระบบออนไลน์ เพราะหากเรียกมาอาจต้องเสียค่าเดินทาง ไม่มีครูสอนนักเรียน อยากให้เป็นแนวทาง เช่น ป้ายต้อนรับ สมัยผมเป็นตำรวจ ไม่อยากให้มี แต่ก็มีดื้อ ทำให้ผมต้องไปจ่ายค่าป้าย รวมถึงของฝาก ของที่ระลึก ไม่ต้องมี สิ่งที่จะให้ผมคือการทำงาน เรื่องทั้งหมดเป็นสิ่งที่ผมทำมาตลอดชีวิตราชการ อยากขอร้อง เพราะผมไม่อยากเสียมาตรฐานของตัวเอง
ด้านนายสุรศักดิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ.กล่าวว่า ศธ.เป็นกระทรวงสำคัญ ซึ่งตนตั้งใจจะทำงานอย่างเต็มที่ เพื่อให้นโยบายของ ศธ.และรัฐบาลประสบความสำเร็จ ขอย้ำว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งที่จะรับสนองนโยบายรัฐบาล และรัฐมนตรีว่าการ ศธ.ไปดำเนินการให้ประสบความสำเร็จ ทั้งนี้ ตนไม่ใช่บุคลากรทางการศึกษาโดยตรง แต่มิติมุมมองของตน และรัฐมนตรีว่าการ ศธ.ก็อาจเป็นมิติที่บุคลากรทางการศึกษามองไม่เห็น สิ่งเหล่านี้จะมาเติมเต็ม เพื่อให้ทำงานต่อไปได้ โดยขอฝากตัวกับทุกคน ตนพร้อมจะทำงานอย่างเต็มที่ และรับฟังความคิดเห็นจากทุกคน