เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2566 สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ป สั่งระงับการดำเนินงานที่โรงงาน 12 แห่ง จากทั้งหมด 14 แห่งในญี่ปุ่น เนื่องจากระบบการผลิตขัดข้อง โดยระบุว่าระบุ มีแนวโน้มว่าจะส่งผลให้โรงงานประกอบรถยนต์เกือบทั้งหมดในประเทศต้องหยุดชะงักเกือบทั้งหมด ส่งผลให้หุ้นโตโยต้าลดลง 0.3% ที่ระดับ 2,429 เยนในการซื้อขายช่วงต้นของโตเกียว โฆษกโตโยต้ากล่าวว่า กำลังตรวจสอบสาเหตุของปัญหา ซึ่งไม่น่าจะเกิดจากการโจมตีทางไซเบอร์ แต่ความผิดปกติดังกล่าวส่งผลให้บริษัทไม่สามารถสั่งซื้อส่วนประกอบต่างๆ ได้
แม้ว่าปริมาณผลผลิตที่สูญเสียไปที่แน่นอนจะไม่ชัดเจน แต่การดำเนินงานของโรงงานประกอบในประเทศของโตโยต้าทุกแห่งต้องหยุดชะงักลง ยกเว้นโรงงาน 2 แห่ง ได้แก่ โรงงานมิยาตะในจังหวัดฟุกุโอกะทางตอนใต้ และโรงงานเกียวโตที่ดำเนินการโดยหน่วยโตโยต้า ไดฮัทสุ ทั้งนี้เมื่อรวมกันแล้ว โรงงาน 14 แห่งในญี่ปุ่นคิดเป็นประมาณ 1 ใน 3 ของการผลิตทั่วโลกของโตโยต้า ซึ่งโตโยต้าเป็นผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ที่สุดของโลกเมื่อพิจารณาจากยอดขาย
โฆษกกล่าวเสริมว่าการดำเนินงานถูกระงับตั้งแต่เช้าวันอังคาร (29 ส.ค.) และไม่มีความชัดเจนว่าจะสามารถดำเนินการต่อกะบ่ายได้หรือไม่
ทั้งนี้เหตุการณ์ในลักษณะนี้ เคยเกิดขึ้นเมื่อปี 2565 การดำเนินงานของโตโยต้าต้องหยุดชะงักเมื่อซัพพลายเออร์รายหนึ่งถูกโจมตีทางไซเบอร์ การหยุดชะงักเพียงวันเดียวทำให้สูญเสียผลผลิตประมาณ 13,000 คัน
อย่างไรก็ตามการหยุดทำงานถือเป็นความเสียหายครั้งล่าสุดต่อบริษัทในญี่ปุ่น ธุรกิจและหน่วยงานของรัฐของญี่ปุ่นบางแห่งรายงานว่ามีโทรศัพท์คุกคามเกิดขึ้นมากมายในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา ซึ่งรัฐบาลกล่าวว่าน่าจะมาจากจีน หลังจากปล่อยน้ำกัมมันตภาพรังสีที่ผ่านการบำบัดแล้วจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิก