วันที่ 23 สิงหาคม 2566 กรมอุตุนิยมวิทยา เผยแพร่ข้อมูล พยากรณ์อากาศ 7 วันข้างหน้า ดังนี้
ในช่วงวันที่ 23-27 สิงหาคม 2566 ร่องมรสุมที่พาดผ่านตอนบนของภาคเหนือ จะเคลื่อนขึ้นไปพาดผ่านประเทศเมียนมาตอนบนและประเทศลาวตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณชายฝั่งประเทศเวียดนามตอนบนและอ่าวตังเกี๋ย ในขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางพัดปกคลุมทะเลอันดามัน และภาคใต้ ทำให้ประเทศไทยยังคงมีฝนฟ้าคะนอง และมีฝนตกหนักบางแห่ง สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยมีกำลังปานกลาง โดยมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 1-2 เมตร
ในช่วงวันที่ 28-29 สิงหาคม 2566 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน และภาคใต้ จะมีกำลังแรงขึ้น ประกอบกับร่องมรสุมพาดผ่านตอนบนของภาคเหนือ ประเทศลาวตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณชายฝั่งประเทศเวียดนามตอนบนและอ่าวตังเกี๋ย ทำให้ประเทศไทยยังคงมีฝนตกหนักบางแห่ง สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันตอนบนและอ่าวไทยตอนบนจะมีกำลังแรงขึ้น โดยมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ส่วนบริเวณทะเลอันดามันตอนล่างและอ่าวไทยตอนล่าง ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 1-2 เมตร
ข้อควรระวัง : ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม ส่วนชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยควรเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองตลอดช่วง
นอกจากนี้ กรมอุตุนิยมวิทยา ยังได้เผยภาพเรดาร์รายงานพยากรณ์ฝนสะสมรายวัน 10 วันล่วงหน้า ระหว่างวันที่ 23 สิงหาคม - 1 กันยายน 2566 ระบุว่า 23-27 ส.ค.66 ฝนยังเกิดขึ้นได้ ใกล้แนวร่องมรสุมและด้านรับมรสุม ระยะนี้ร่องมรสุมอ่อนลง ยังสวิง ขึ้น-ลง กลับไปพาดผ่าน สปป.ลาว และเวียดนามตอนบน ส่วนมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ยังคงพัดปกคลุม ทำให้ประเทศไทยตอนบนยังมีฝนบางแห่ง
ปริมาณฝนส่วนใหญ่ยังเป็นฝนเล็กน้อยถึงปานกลาง และมีตกหนักได้บางแห่ง โดยเฉพาะตามแนวชายขอบบริเวณภาคเหนือตอนบน ภาคอีสานตอนบนและด้านตะวันออก ใกล้ร่องมรสุม ภาคตะวันออก (จันทบุรี ตราด) และภาคใต้ด้านรับมรสุม (ระนอง พังงา) คลื่นลมมีกำลังปานกลาง ส่วนภาคเหนือตอนล่าง ภาคอีสานด้านตะวันตก ภาคกลาง (กทม.และปริมณฑล) และภาคใต้ตอนล่าง ฝนยังน้อย
พยากรณ์อากาศ
ส่วนช่วง 28 ส.ค. - 1 ก.ย.66 ร่องมรสุมจะเริ่มแรงขึ้นอีกครั้งและกลับมาพาดผ่านบริเวณภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคอีสาน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำในทะเลจีนใต้ ประกอบกับมรสุมที่พัดปกคลุมจะมีกำลังแรงขึ้นด้วย ทำให้มีฝนกระจายเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักหลายพื้นที่ เตรียมรับมือฝนหนัก ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากได้บริเวณประเทศไทยตอนบน จะเริ่มทางภาคอีสานก่อน น่าจะเป็นข่าวดีสำหรับพื้นที่ที่มีฝนน้อย เตรียมรองรับน้ำฝนและกักเก็บน้้ำไว้ใช้ แต่สภาวะฝนปีนี้ยังมีเปลี่ยนแปลงภายใต้เงื่อนไขของปีที่มีปรากฏการณ์เอลนีโญ