เมื่อวันที่ 18 ส.ค. 2566 ที่รัฐสภา นายสมชาย แสวงการ สว. ให้สัมภาษณ์หลังการประชุมวิป 3 ฝ่ายว่า วุฒิสภาขอเวลาอภิปรายโหวตนายกรัฐมนตรี 2 ชั่วโมง โดยจะอภิปรายเกี่ยวกับคุณสมบัติทั้งหมดของผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อ แต่วันนี้ยังไม่ชัดเจนว่าเป็นใคร ซึ่งในที่ประชุมวิป 3 ฝ่าย ได้ถามกันว่าจะเสนอชื่อใครเป็นนายกฯ โดยพรรคเพื่อไทยยืนยันว่าเป็นนายเศรษฐา ทวีสิน แต่จะแถลงในวันที่ 21 ส.ค.อีกครั้งว่าเป็นใคร และตนได้ข่าวว่าชื่อคนเป็นนายกฯ จะเป็นชื่ออื่น ไม่ใช่นายเศรษฐา ดังนั้น คิดว่าในวันที่ 21 ส.ค. พรรคเพื่อไทยต้องทำให้เรียบร้อยว่า จะเสนอชื่อใครเป็นนายกฯกันแน่
เมื่อถามว่าหลังจากพรรคเพื่อไทยแถลงวันที่ 21 ส.ค.แล้ว เสียงของสว.จะแตกหรือไม่ นายสมชายกล่าวว่า เสียงของสว.มันแตกเป็นปกติ ซึ่งแล้วแต่ความคิดของแต่ละคนอยู่แล้ว ส่วนการแสดงวิสัยทัศน์ของนายเศรษฐา นั้น ตนเห็นว่าเป็นเรื่องดี ถ้าเขาจะมา แต่ที่ประชุมวิปสอบถามตัวแทนพรรคเพื่อไทย ระบุว่า นายเศรษฐา จะไม่มาแสดงวิสัยทัศน์ในที่ประชุม
เมื่อถามว่าพรรครวมไทยสร้างชาติและพรรคพลังประชารัฐจับขั้วร่วมรัฐบาลกับเพื่อไทย จะส่งสัญญาณให้สว.เลิกแตกแถวได้หรือไม่ นายสมชายกล่าวว่าไม่เกี่ยว สว.มีอิสระในการโหวต และต้องพิจารณาเหมือนกับตรวจสอบคุณสมบัติและพฤติกรรมทางจริยธรรมองค์กรอิสระเหมือนเดิม และเกณฑ์ที่สว.จะช่วยโหวตก็แล้วแต่สว.จะพิจารณา เพราะเราใช้ดุลยพินิจอิสระอยู่แล้ว แต่ถ้าเสียงของเขาพอ ไม่ต้องใช้เสียงสว.ก็ดี แต่มันคงเป็นไปไม่ได้ ส่วนตัวตอบไม่ได้ว่าจะโหวตอย่างไร ขอดูหน้างานอีกที
ต่อข้อถามว่าหากนายเศรษฐาไม่ผ่านรอบนี้ จะดันพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ขึ้นเป็นนายกฯแทน นายสมชายกล่าวว่า ไม่เกี่ยว ไม่มีไปไกลขนาดนั้น เพราะพรรคเพื่อไทยยังมีแคนนิเดตคนอื่นอีก ทั้งน.ส.แพทองธาร ชินวัตร และนายชัยเกษม นิติสิริ ฉะนั้นสว.ก็ทำหน้าที่โหวตและพิจารณาตามปกติ
สิ่งที่เราอยากได้และยังไม่เห็นคือ ตกลงแล้วพรรคเพื่อไทยจะเสนอชื่อนายเศรษฐา ใช่หรือไม่ และคนจะเป็นนายกฯ ก็ควรนั่งแถลง หากไม่แถลงในสภาฯ ก็ต้องนั่งแถลงข้างนอกโดยมีพรรคร่วมรัฐบาลทั้งหมดอยู่ด้วย จะได้ชัดเจนว่านโยบายหลอมรวมกันอย่างไร เพราะเท่าที่ดูนโยบายแตกต่างกันมาก ดังนั้น หากจะสลายขั้วมารวมกันก็ต้องเอาให้ชัดว่ามีกี่เสียง สว.ไม่ขัดข้อง
แต่ที่ห่วงคือ การแก้รัฐธรรมนูญ เพราะที่ผ่านมามีรายงานเรื่องนี้ผ่านมาแล้ว 3 คณะ ทำไมต้องล้มรัฐธรรมนูญแล้วร่างใหม่ ทำไมไม่คิดแก้ไข ดังนั้น ต้องคุยให้เคลียร์ว่าจะเอาอย่างไร เพราะการร่างกับการแก้ไขเป็นคนละเรื่องกัน การแก้รัฐธรรมนูญที่ใช้มา6 ปี ก็เหมือนบ้าน หากเห็นว่าหลังคารั่ว ก็ต้องซ่อม แต่ถ้าบอกว่าเผาบ้านทิ้งแล้วสร้างบ้านใหม่ดีกว่า อันนี้ยุ่ง และหากมีนโยบายล้มรัฐธรรมนูญทั้งฉบับก็ต้องทำประชามติ 3 ครั้ง ใช้งบ 1.4 หมื่นล้านบาท”นายสมชาย กล่าว
เมื่อถามว่ามีความเป็นไปได้หรือไม่ที่จะมีนายกฯคนนอก นายสมชายกล่าวว่า เรื่องนี้ไม่ใช่ เพราะเป็นเรื่องที่ไกลโพ้น ส่วนกังวลหรือไม่ว่าจะมีม็อบมากดดัน นายสมชายกล่าวว่า ไม่กังวล เราชินกับม็อบอยู่แล้ว
เมื่อถามว่าหากโหวตนายกฯครั้งที่ 3 ไม่ผ่าน สว.อาจถูกมองว่าเป็นตัวถ่วงที่ทำให้การบริหารประเทศเดินหน้าไม่ได้ นายสมชายกล่าวว่า ไม่เกี่ยวกัน สมัยรัฐบาล 377 เสียง ของนายทักษิณ ชินวัตร ก็เคยจัดมาแล้ว แต่ครั้งนี้ที่จัดไม่ได้เพราะ สว.ต้องมาให้ความเห็นชอบเพิ่ม ซึ่งไม่ได้มีปัญหา ส.ว.ทำหน้าที่ตรงไปตรงมา เราไม่ได้กังวลหรือขัดขวาง
หากใครเหมาะสมเป็นนายกฯ เราก็โหวตให้ หากไม่เหมาะสมเราก็ไม่โหวตให้ เพราะทุกคนต้องลุกขึ้นขานชื่อให้ประชาชนรับทราบอยู่แล้ว จึงไม่มีวัตถุประสงค์ไปขัดขวางใคร หรือพรรคใดตั้งแต่ต้น